ซีสต์เกิดจากอะไร
ซีสต์เป็นเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นถุงซึ่งมีไขมัน เซลล์หนังกำพร้า เส้นผมหรือต่อมเหงื่อ หรือสารคัดหลั่งของร่างกายบรรจุอยู่ภายใน โครงสร้างที่เป็นผนังของซีสต์ก็คือส่วนประกอบของผิวหนัง เช่น รูขุมขน ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมเหงื่อซึ่งพองตัวเป็นถุงเนื่องจากมีการอุดตันของรูเปิดของต่อมต่างๆ เหล่านี้ หรือการฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้ ซึ่งเกิดขึ้นตามหลังจากที่ผิวหนังถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยซีสต์ที่เกิดจากกลไกประการหลังนี้จะเป็นซีสต์ที่เป็นตั้งแต่กำเนิด
ซีสต์มีกี่ชนิดแต่ละชนิดมีลักษณะต่างกันอย่างไร
สามารถจำแนกซีสต์ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังตามลักษณะ ตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ ออกเป็นซีสต์ชนิดต่างๆ ซีสต์ที่มีผนังซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายผิวหนัง ได้แก่ epidermal cyst, milium, steatocystoma multiplex, vellus hair cyst และ dermoid cyst ซีสต์ที่มีผนังเป็นท่อของต่อมเหงื่อ ได้แก่ apocrine และeccrinehidrocystoma
ในที่นี้จะเล่าถึงลักษณะของซีสต์ที่มีส่วนประกอบของผนังคล้ายผิวหนังเท่านั้น เพราะซีสต์ประเภทหลังเป็นซีสต์ที่พบได้ไม่บ่อยนัก
Epidermal cyst เป็นซีสต์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นกับผิวหนังที่เป็นส่วนประกอบของรูขุมขน โดยมี keratin ซึ่งมีส่วนประกอบเหมือนขี้ไคลบรรจุอยู่ภายใน ซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ ขนาดแตกต่างกัน สีเดียวกับผิวหนังซึ่งยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบนแต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์ และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ ซึ่งเมื่อเราดึงผิวหนังให้ตึงจะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ในตำแหน่งนี้ และจะพบสารสีขาวๆ คล้ายสังขยาไหลออกมาเมื่อเราบีบซีสต์ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยซีสต์ เนื่องจากการบีบซีสต์อาจทำให้ซีสต์มีการอักเสบ เจ็บและบวมแดงขึ้นได้ epidermal cyst จะมีขนาดแตกต่างกันไป เป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกายแต่พบบ่อยที่ใบหน้าคอหน้าอกและหลังส่วนบน
Milium หรือสิวข้าวสาร เป็นซีสต์ที่มีผนังและส่วนประกอบเหมือน epidermal cyst แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว ซึ่งอยู่ตื้นและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 ม.ม. ซีสต์ชนิดนี้พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรา เป็นได้เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั่วทั้งตัว แต่จะพบบ่อยที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็ก
สาว นอกจากนี้ milium ยังมักเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังเคยถูกทำลายมาก่อน เช่น ในบริเวณที่ผิวหนังเคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังการขัดหน้า เกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสีหรือตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากเป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพองใส หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยทายาสเตียรอยด์อยู่นานๆ ส่วนใหญ่เมื่อผิวหนังมีการสมานแผลภายหลังการที่ผิวถูกทำลายด้วยลักษณะต่างๆเหล่านี้ก็อาจมีสิวข้าวสารเกิดขึ้นได้
Steatocystoma เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน (sebaceous duct) ผนังของซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับซีสต์ชนิดแรกคือ epidermal cyst แต่สารที่บรรจุภายในซีสต์ไม่ใช่ keratin แต่เป็นไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซีสต์ชนิดนี้มักจะพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังขนาดแตกต่างกันแต่มักไม่เกิน 2 ซ.ม.ซึ่งพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณกลางหน้าอก ต้นแขนและต้นขา ถ้าซีสต์ประเภทนี้อยู่ตื้นจะมองเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองๆ แต่ถ้าซีสต์อยู่ลึกจะเห็นเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนัง ลักษณะสำคัญของซีสต์ประเภทนี้ก็คือ ถ้าใช้เข็มเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้ายเนยเหลว ๆ ไหลออกมา ซีสต์ประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆตุ่ม(steatocystomamultiplex)
Vellus hair cyst เป็นซีสต์ขนาดเล็กซึ่งมีผนังและสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์คล้ายกับ epidermal cyst และ steatocystoma แต่มีเส้นผมขนาดเล็ก (vellus hair) บรรจุอยู่ภายในซีสต์ด้วย ทำให้ซีสต์มีลักษณะเป็นตุ่มสีคล้ำ ซีสต์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆตุ่มทั่วร่างกาย(eruptivevellushaircyst)
Dermoid cyst เป็นซีสต์ที่พบไม่บ่อย ซีสต์ชนิดนี้มักเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือวัยเด็ก และเป็นซีสต์ที่มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด โดยผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลล์ผิวหนัง เส้นผม ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ลักษณะของซีสต์เป็นก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขนาดประมาณ 1-4 ซ.ม. ซึ่งอาจมีปอยผมงอกออกมาจากซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหางคิ้ว จมูก และหนังศีรษะ ซีสต์ชนิดนี้ถ้าเป็นที่บริเวณกึ่งกลางของร่างกาย เช่น จมูก และศีรษะบริเวณท้ายทอยอาจมีทางเปิดติดต่อกับสมอง
ซีสต์จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้หรือไม่
เนื่องจากผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลล์ผิวหนัง จึงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆ ไป แต่อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็งจากซีสต์ต่ำมากจนไม่จำเป็นต้องกังวลจนกลัดกลุ้ม โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์ส่วนใหญ่จึงเป็นการอักเสบและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่ซีสต์แตก จากการถูกเจาะหรือบีบซีสต์ หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ ทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการอักเสบ และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังแทรกซึมเข้าไปเจริญเติบโตในซีสต์ ทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บ
สำหรับ dermoid cyst นั้นนอกจากจะมีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อเช่นเดียวกับซีสต์ชนิดอื่นๆ แล้ว ในกรณีที่ซีสต์มีทางเปิดติดต่อกับสมอง การติดเชื้อที่ซีสต์จึงอาจลุกลามเข้าไปในสมองเกิดเป็นฝีในสมองได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหนไม่ควรเจาะ แคะ แกะ เกาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว
เป็นซีสต์แล้วรักษาหายหรือไม่
เนื่องจากซีสต์เป็นเนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออกในกรณีที่ซีสต์นั้นมีการอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบติดเชื้อจากการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ สำหรับซีสต์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ตื้น เช่น milium อาจให้การรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือสำหรับกดสิว กดเอาสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์ออก ส่วนการรักษาซีสต์ชนิดอื่นก็ทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออก ส่วน steatocystoma นั้น เนื่องจากสารที่อยู่ในซีสต์เป็นน้ำมัน จึงอาจรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำมันที่บรรจุอยู่ในซีสต์ และลอกเอาผนังของซีสต์ออก ในกรณีที่ซีสต์มีการอักเสบติดเชื้อต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าซีสต์เพื่อระบายหนองออก สำหรับ dermoid cyst ที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีทางเปิดติดต่อกับสมองนั้น ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อพิจารณาว่าซีสต์มีทางเปิดต่อกับสมองหรือไม่ จะได้วางแผนการผ่าตัดได้ถูกต้องและป้องกันภาวะแทรกซ้อนไว้ล่วงหน้าค่ะ
เรื่องของซีสต์เป็นเรื่องไม่น่าต้องกังวลมากนัก เพราะโอกาสกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นซีสต์ก็ลองไปให้แพทย์ผิวหนังช่วยวินิจฉัยดูได้เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีคืออย่ามือซนไปบีบ เจาะซีสต์เองเพราะสามารถทำให้ติดเชื้อได้ เป็นแผลขึ้นมาได้