เบาหวาน เกิดจากอะไร ?
โรคเบาหวาน คือ สภาวะการไม่สมดุลของฮอร์โมน ชื่อ อินซูลินซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลใช้เป็นพลังงานต่อไปที่ว่าไม่สมดุลก็คือมีน้อยไม่พอกับความต้องการ หรือมีไม่น้อย (อันที่จริงมากกว่าปกติเสียอีก) แต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อผนังเซลได้เต็มที่ผลก็ออกมาเหมือนกับน้อย คือพาน้ำตาลเข้าไปในเซลไม่ได้ ผลลัพธ์สุดท้าย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ อันเป็นภาวะเป็นพิษ ต่อเนื้อเยื่อทั่วไปในร่างกายเมื่อต้องผจญกับภาวะน้ำตาลสูงอยู่เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย สุขภาพอ่อนเพลีย
เบาหวานมีกี่ชนิด ?
ถ้าแบ่งกันง่าย ๆ ก็อาจพูดได้ว่า มี 2 ชนิด คือ
เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน มักเกิดขึ้นในเด็ก รูปร่างผอม เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ไม่สามารถใช้ยาเม็ดรับประทานได้
เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ รูปร่างอ้วน เนื่องจากอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อผนังเซลล์ได้ดี ทำ ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง การรักษาอาจเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และใช้ยาเม็ดชนิดทานในขั้นต่อมา คนไข้ในกลุ่มนี้อาจต้องใช้ยาฉีดอินซูลินบางครั้งหรือตลอดไป ถ้าไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยยา
คนไทยเป็นเบาหวานมากน้อย แค่ไหน ?
ประมาณการณ์กันว่ามีประมาณ 4-7% ในช่วงอายุ 30-60 ปี และเนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดจะพบสะสมมากขึ้นเป็น 10-15% ในกลุ่มประชากรอายุเกิน 60 ปี
เบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรม พ่อแม่ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกหลานให้เกิดโรคเบาหวาน นอกเหนือจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมวิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิดเบาหวานอาการ ถ้าหากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์
*ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น *หิวน้ำบ่อยและดื่มน้ำในปริมาณที่มากๆ
* เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง
* น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
* ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ เช่น ติดเชื้อทางผิวหนัง
* สายตาพร่ามองเห็นไม่ชัดเจน
* เป็นแผลหายช้า
มาตรการรักษาเบาหวาน ?
ของคนไข้เบาหวานทุกคนก่อนได้รับการรักษาด้วยยาต้องควบคุมเรื่องอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และอย่าให้มี รูปร่างอ้วน ต่อจากนั้นถึงมาตรการใช้ยา ซึ่งมี 2 พวกใหญ่ ๆ คือ ยาเม็ดเบาหวาน และยาฉีดอินซูลิน
คนไข้เบาหวานทั่วไปมักละเลยเรื่องของการคุมอาหาร
การออกกำลังกาย โดยคิดว่าเมื่อทานยาแล้วก็คงหายจากโรค เหมือนโรคทั่วไปอย่างอื่น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด แต่ถ้าควบคุมให้ดีคนไข้จะปราศจากโรคแทรกซ้อน,ชะลออาการเกิดโรคแทรกซ้อนได้
โรคแทรกซ้อนเบาหวาน ?
แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. เกิดในพยาธิสภาพระดับเส้นเลือดเล็ก ได้แก่ โรคไตวาย ปลายประสาทอักเสบตาบอด
2. เกิดในพยาธิสภาพระดับเส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันอัมพาต เส้นเลือดแดงเลี้ยงแขนหรือขาตีบ
ควบคุมเบาหวาน น้ำตาลในเลือดเท่าไรดี ?
พบว่าถ้าสามารถควบคุมให้น้ำตาลในเลือดเท่าคนปกติจะสามารถลดการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ดังนั้น ระดับน้ำตาลตอนเช้าควรอยู่ในระดับ 80-120 มก.% แต่ทั้งนี้คนไข้ไม่ควรมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (อาการก็คือความรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกตัวเย็น ความคิดสับสน) ในการวัดผล ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำหาระดับน้ำตาลซึ่งให้ผลแน่นอน ละเอียดกว่าการ ตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ ปัจจุบันมีเครื่องมือเจาะเลือดจากปลายนิ้วตรวจ นับว่าอำนวยความสะดวก และคนไข้สามารถวัดผลได้เองที่บ้าน
คนไข้เบาหวานไม่ใช่คุมแต่ระดับน้ำตาล ?
ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นแค่ผลของความผิดปกติทางการใช้สารอาหารอันหนึ่งของร่างกาย ภาวะไขมันในเลือดสูงก็มักพบควบคู่กันมาด้วย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสำรวจว่า
1. ภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่
2. อ้วนหรือไม่
3. มีโรคความดันโลหิตสูงด้วยหรือไม่
4. สูบบุหรี่หรือไม่
ถ้าคำตอบคือ มี ท่านต้องรักษาโรค หรือภาวะเหล่านี้ด้วยจึงจะปลอดภัย และอยู่ในสภาพปกติเหมือนคนทั่วไป